ถังดับเพลิงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการช่วยดับเพลิงและควบคุมรักษาความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งการติดตั้งถังดับเพลิงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกอาคารและโรงงานทุกแห่งต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากการเลือกติดตั้งถังดับเพลิงให้ถูกประเภท และเหมาะสมกับการใช้งานในสถานการณ์ไฟไหม้ และรูปแบบประเภทของเพลิงไหม้ต่าง ๆ จะช่วยให้คุณสามารถลดความสูญเสียได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเสริมสร้างความปลอดภัยยิ่งกว่าเดิมให้กับพนักงานในองค์กรอีกด้วย
ประเภทของเพลิง
ก่อนที่จะเริ่มต้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับถังดับเพลิง คุณต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเชื้อเพลิงหรือประเภทของไฟกันให้ดีเสียก่อน เพื่อที่จะได้เลือกติดตั้งถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับประเภทของลักษณะเพลิงไหม้ได้ โดยประเภทของไฟนั้นแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1. เพลิงไหม้ประเภท A
เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงของแข็ง ได้แก่ ไม้ กระดาษ ผ้า พลาสติก นุ่น ยาง เป็นต้น ซึ่งเป็นเพลิงไหม้ที่มักเกิดในอาคารที่พักอาศัยทั่วไป ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้ถังดับเพลิงก็ได้ เพราะสามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่า
2. เพลิงไหม้ประเภท B
เพลิงไหม้ชนิดนี้สามารถลุกไหม้ได้นาน หากมีออกซิเจนอยู่รอบ ๆ เพราะเกิดจากของเหลวติดไฟ เช่น น้ำมันก๊าซ ก๊าซหุงต้ม และก๊าซไวไฟ เป็นต้น
3. เพลิงไหม้ประเภท C
เพลิงไหม้ที่เกิดจากวัสดุและอุปกรณ์ที่มีไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น
4. เพลิงไหม้ประเภท D
เพลิงไหม้ที่เกิดจากวัตถุของแข็งหรือโลหะติดไฟได้ เช่น ไตตาเนียม และแมกนีเซียม เป็นต้น
5. เพลิงไหม้ประเภท K
เพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันและไขมันในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันหมู น้ำมันพืช และไขมันสัตว์ เป็นต้น
ประเภทของถังดับเพลิง
1. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
ถังดับเพลิงอเนกประสงค์ที่แทบจะดับไฟได้เกือบทุกประเภท ซึ่งยกเว้นเพลิงไหม้ประเภท K เท่านั้น เป็นถังดับเพลิงที่นิยมติดตั้งในที่พักอาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม ภายในถังจะบรรจุฝุ่นผงเคมีแห้ง เมื่อฉีดออกมาจะฟุ้งกระจายเข้าดับเพลิงด้วยการขัดขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง ข้อเสีย คือเมื่อฉีดใช้งานแล้วจะไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก เพราะแรงดันของถังดับเพลิงจะตกลง
2. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย
ถังดับเพลิงที่ภายในบรรจุสารเคมีเหลวที่มีความเย็นจัด สามารถดับเพลิงไหม้ประเภท A B และ C ได้ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นลักษณะไอระเหย ทำหน้าที่กำจัดความร้อนและขัดขวางการเผาไหม้ออกซิเจน และไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า โดยถังดับเพลิงชนิดนี้จะไม่ทิ้งคราบไว้ และไม่ทำลายอุปกรณ์ไฟฟ้าอีกด้วย จึงนิยมติดตั้งในโรงพยาบาล ห้องคอมพิวเตอร์ เครื่องบิน หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
3. ถังดับเพลิงชนิดโฟม
ถังดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูงในการดับเพลิงไหม้ประเภท A และ B ได้เป็นอย่างดี แต่จะไม่สามารถดับเพลิงไหม้ประเภท C ได้ เพราะเมื่อฉีดออกมาจะมีลักษณะเป็นโฟมกระจาย โดยโฟมนี้นั้นมีส่วนผสมของน้ำซึ่งเป็นสื่อนำไฟฟ้า ถังเพลิงชนิดโฟมจึงเหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเชื้อเพลิงและก๊าซไวไฟ และปั๊มน้ำมัน
4. ถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ CO2
ถังดับเพลิงที่เหมาะกับการดับเพลิงไหม้ประเภท C และ D ซึ่งเป็นถังดับเพลิงที่บรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ภายใน นิยมติดตั้งในอุตสาหกรรมอาหาร ห้องเครื่องจักร และโรงงานผลิตขนาดใหญ่ เนื่องจากถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์จะมีปลายกระบอกฉีดที่ใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นไอเย็นจัดคล้ายน้ำแข็งแห้ง สามารถดับเพลิงไหม้และลดความร้อนในสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ทิ้งคราบสกปรกไว้อีกด้วย
5. ถังดับเพลิงชนิดเคมีสูตรน้ำ
ถังดับเพลิงที่บรรจุสารเคมีซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Non-CFC) เป็นสารสะอาดที่มีการทดสอบและรับรองในมาตรฐานสากล เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นไอ ไม่บดบังทัศนวิสัยในขณะฉีด เนื่องจากไม่เป็นฝุ่นละออง และไม่ทิ้งคราบสกปรกไว้ ทั้งยังสามารถควบคุมเชื้อเพลิงและดับไฟประเภท A B C และ K ได้ ด้วยประสิทธิภาพในการดับเพลิงที่ดีครอบคลุมกับเชื้อเพลิงที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ถังดับเพลิงชนิดนี้จึงมักถูกใช้งานตามห้างสรรพสินค้า ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป
วิธีการใช้งานถังดับเพลิงที่ถูกต้อง
เข้าไปจากทางเหนือลมโดยทิ้งระยะห่างจากฐานไฟประมาณ 2 ถึง 3 เมตร
ดึงสายฉีดถังดับเพลิง
ปลดสลักหรือลวดที่รั้งวาล์วถังดับเพลิงออก
กดคันบีบไกถังดับเพลิง เพื่อเปิดวาล์วให้ก๊าซพุ่งออกมา
บังคับปลายหัวฉีดถังดับเพลิงชี้ไปที่ฐานของไฟ ทำมุมประมาณ 45 องศา ให้ฉีดไปตามทางยาว และส่ายหัวไปช้า ๆ
ใช้งานถังดับเพลิงดับไฟตรงฐานให้สนิท แล้วจึงฉีดต่อไปข้างหน้า
ในกรณีที่เพลิงไหม้อยู่ในพื้นที่ต่างระดับ ให้ฉีดถังดับเพลิงจากด้านล่างขึ้นด้านบน และหากน้ำมันรั่วไหลให้ฉีดจากปลายทางที่รั่วไหลไปยังจุดรั่วไหล และในกรณีที่เพลิงไหม้เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ต้องรีบตัดกระแสไฟฟ้าก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นมาอีกได้
วิธีการตรวจสอบถังดับเพลิงให้พร้อมต่อการใช้งาน
ตรวจที่เข็มมาตรวัดของถังดับเพลิง โดยถังดับเพลิงที่พร้อมต่อการใช้งาน เข็มจะชี้อยู่ที่ช่องสีเขียว (ตรงกลางชี้ขึ้นด้านบน) หากเข็มชี้ไปทางด้านซ้ายแสดงว่าแรงดันไม่มี ให้รีบนำไปเติมแรงดันทันที
ตรวจบริเวณสายฉีดและหัวฉีดของถังดับเพลิง มั่นใจว่าไม่มีผงอุดตัน
หากถังดับเพลิงเกิดไฟไหม้ หรือได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง ให้ส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่
สภาพภายนอกถังดับเพลิงต้องไม่บุบ บวม หรือขึ้นสนิม
ถังดับเพลิงแต่ละชนิดมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน ควรหมั่นตรวจเช็กอายุการใช้งานเป็นประจำ
ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง หากมีการใช้งานแล้ว ต้องนำไปเติมสารเคมีใหม่ในทุกครั้ง
ทุกกระบวนการตรวจสอบถังดับเพลิง ควรหมั่นตรวจความพร้อมเป็นประจำในทุกเดือน เพื่อที่คุณจะได้มั่นใจว่าถังดับเพลิงมีสภาพพร้อมใช้งานเต็มประสิทธิภาพ
#ตรวจสอบถังดับเพลิง #ถังดับเพลิง #ประเภทถังดับเพลิง #ประเภทเพลิง #ประเภทไฟ
留言