กฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
พ.ศ. ๒๕๖๕
---------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๓
ข้อ ๓ ในกฎกระทรวงนี้
"ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย" หมายความว่า ระบบการจัดการที่กำหนดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการของสถานประกอบกิจการเพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งครอบคลุมการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
ข้อ ๔ นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้ ที่มีลูกจ้างจำนวนห้าสิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว
ข้อ ๕ ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(๒) การจัดการองค์กรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(๓) แผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการนำไปปฏิบัติ
(๔) ประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
(๕) การปรับปรุงและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
ข้อ ๖ ในการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อ ๕ (๑) นายจ้างต้องมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเผยแพรให้ลูกจ้างหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องทราบอย่างทั่วถึง
(๒) จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อ ๕ (๑) เป็นภาษาไทยหรือจะมีภาษาอื่นที่ลูกจ้างสามารถเข้าใจด้วยก็ได้ พร้อมลงลายมือชื่อประทับตรารับรอง และลงวันที่ให้ถูกต้องครบถ้วน โดยจะจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้
(๓) จัดให้มีการทบทวนนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ข้อ ๗ นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อ ๕ (๑) ต้องสอดคล้องกับสภาพการทำงานและกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ
(๒) เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ ๘ การจัดการองค์กรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อ ๕ (๒) อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) การจัดให้มีบุคลากรซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมกับบุคลากรแต่ละตำแหน่ง
(๒) การฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยเพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอ สามารถปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้อย่างปลอดภัย
(๓) การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยให้เป็นปัจจุบัน เก็บไว้ในสถานประกอบกิจการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันจัดทำ และพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ โดยจะจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้ การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการ และข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แก่ผู้รับเหมาและผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง
ข้อ ๙ แผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อ ๕ (๓) อย่างน้อยต้องมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้
(๑) การทบทนสถานะเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ปรากฏอยู่ในบริเวณที่ทำงานของลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงการระบายอากาศ สารเคมีอันตราย ความร้อน แสงสว่าง เสียง รังสี ไฟฟ้า
ที่อับอากาศ เครื่องจักร อาคาร สถานที่ ตลอดจนสภาพและลักษณะการทำงานอย่างอื่นของลูกจ้างและในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจะต้องมีการทบทวนสถานะเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้ทราบถึงอันตรายหรือระดับความเสี่ยงด้วยทุกครั้ง
(๒) การนำผลการทบทวนสถานะเบื้องต้นมาวางแผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบ งบประมาณ ระยะเวลาในการดำเนินการ และเกณฑ์การประเมินผล
(๓) การนำแผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานไปปฏิบัติ
(๔) การประเมินผลที่ได้จากการปฏิบัติตามแผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(๕) การนำผลการประเมินตาม (๔) ไปปรับปรุงแผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ข้อ ๑๐ ในการประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามข้อ ๕ (๔) อย่างน้อยต้องดำเนินการ ดังนี้
(๑) มีการตรวจติดตามและการวัดผลการปฏิบัติงานของระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
(๒) มีการสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดอุบัติการณ์ การเจ็บป่วย โรคจากการทำงานหรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขและปรับปรุงระบบการจัดการด้านความปลอดภัยและกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดเหตุดังกล่าวซ้ำอีก
(๓) มีการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย โดยนำผลการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการมาวิเคราะห์หาสาเหตุของข้อบกพร่องและแนวโน้มที่จะเกิดข้อบกพร่องนายจ้างต้องจัดให้มีการประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ข้อ ๑๑ การปรับปรุงและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามข้อ ๕ (๕) ต้องนำผลที่ได้จากการประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามข้อ ๑๐ มาปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดการด้านความปลอดภัยด้วยการปรับปรุงและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามวรรคหนึ่ง ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ข้อ ๑๒ เพื่อให้ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้นายจ้างของสถานประกอบกิจการต้อง
(๑) ควบคุมดูแลการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
(๒) เปิดโอกาสให้ลูกจ้างทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
(๓) จัดให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยได้โดยคำนึงถึงการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
(๔) จัดให้มีช่องทางในการรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของลูกจ้าง เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
ข้อ ๑๓ ในกรณีที่นายจ้างได้จัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization for
Organization : ISO) มาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International LabourOrganization : ILO) มาตรฐานของสถาบันมาตรฐานสหราชอาณาจักร (British Standards
Institution: BS) มาตรฐานของสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ(Occupational Safety and Health Administration : OSHA) มาตรฐานของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI) มาตรฐานของประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards AS/NZS) มาตรฐานของสมาพันธ์การกำหนดมาตรฐานของประเทศแคนาดา (Canadian Standards Association : CSA) หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ถือว่าได้จัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้แล้ว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕
สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕ บัญญัติให้นายจ้างบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งระบบการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ สมควรจะต้องมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ โดยมีการทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยในการทำงานยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้